การประชุมออนไลน์ : e-Meeting/Online Meeting
จากสภาวะ Covid-19 ส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของหน่วยงานรัฐ/เอกชนหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือ การประชุมของหน่วยงาน ซึ่งมีข้อกังวลอย่างมากกว่าผิดระเบียบหรือไม่ อย่างไร ทำได้มากน้อยเพียงใด ในที่สุดก็มีประกาศ … พระราชกำหนดว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 ออกมาในวันที่ 18 เมษา 2563 โดยมีสาระสำคัญดังนี้
การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายความว่า การประชุมที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องมีการประชุมที่ได้กระทำผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ร่วมประชุมมิได้อยู่ในสถานที่เดียวกันและสามารถประชุมปรึกษาหารือและแสดงความคิดเห็นระหว่างกันได้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกำหนด ทั้งนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดทำ คู่มือมาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้อธิบายและอ้างอิงเกี่ยวกับประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เรื่อง มาตรฐานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2557 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 74/2557 เรื่อง การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ลงวันที่ 27 มิถุนายน พุทธศักราช 2557
โดยมีประเด็นน่าสนใจทางเทคนิคที่หน่วยงานต้องพิจารณาให้เหมาะสมคือ
(1) จัดให้มีการบันทึกเสียงหรือทั้งเสียงและภาพ แล้วแต่กรณี ของผู้ร่วมประชุมทุกคน ตลอดระยะเวลาที่มีการประชุมในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ
(2) จัดเก็บข้อมูลจราจรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้ร่วมประชุมทุกคนไว้เป็นหลักฐาน
โดยทั้งสองรายการให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงานการประชุม
นอกจากนี้หน่วยงานที่จัดการประชุมควรพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นดังต่อไปนี้
- การใส่ Password ในเอกสารลับ และแจ้งรหัสต่อผู้ร่วมประชุมที่เกี่ยวข้องเท่านั้น
- แจ้งผู้ร่วมประชุมงดการจับจอภาพ หรือบันทึกภาพ/เสียง/VDO สำหรับการประชุมลับ รวมเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการประชุมลับ
- ผู้ดำเนินการประชุมควรทำความเข้าใจโปรแกรม VDO Conference ที่ใช้ให้เข้าใจก่อน เช่น วิธีการแชร์หน้าจอของผู้เข้าร่วมประชุม วิธีแทรกไฟล์นำเสนอ รวมถึงวิธีการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นของโปรแกรม หากผู้เข้าร่วมประชุมคนอื่นใช้โปรแกรมไม่เป็น ผู้ดำเนินการประชุมควรจัดเตรียมเอกสาร สื่อ แนะนำขั้นตอนการประชุม รวมทั้งการใช้งานเครื่องมือ ซอฟต์แวร์ที่เกี่ยวกับการประชุมต่อผู้ร่วมประชุม
- ระมัดระวังการผยแพร่ Meeting Id/Personal Link Name ผ่าน Social Media ซึ่งอาจทำให้บุคคลที่ไม่ได้รับเชิญสามารถ Copy รหัสและนำไปใช้ เพื่อเข้าร่วมประชุมได้อีกด้วย
- ควบคุม/กำกับให้ผู้ร่วมประชุมปิดระบบของตนเอง โดยเฉพาะระบบเสียงเพื่อป้องกันเสียงรบกวนระหว่างประชุม และเปิดระบบเมื่อต้องการแสดงความเห็นเท่านั้น
- ควบคุมการเปิดโปรแกรม VDO Conference ของผู้ร่วมประชุมที่อยู่ในห้องเดียวกัน โดยให้แต่ละเครื่องต้องใช้หูฟังเท่านั้น เพื่อป้องกันการกวนของสัญญาณเสียง
- จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ให้พร้อม และแยกหน้าที่ เช่น เจ้าหน้าที่ติดตามการสื่อสารแบบ Chat เพราะหลายครั้งที่เกิดข้อขัดข้องในการพูด หรือสัญญาณ ส่งผลให้ผู้ร่วมประชุมต้องเลือกพิมพ์แทนการพูด … เจ้าหน้าที่ควรติดตามและตอบสนองโดยเร็ว และจัดเก็บข้อความผ่านระบบ Chat เป็นความเห็นประกอบการประชุม รวมทั้งจัดเก็บไฟล์ภาพ ไฟล์เอกสารที่ผู้ร่วมประชุมจัดส่งผ่านระบบ Chat ในขณะที่เจ้าหน้าที่หลักก็ดำเนินการประชุมตามปกติ
- ทบทวนการสร้างสไลด์ประกอบการประชุมออนไลน์ โดยอาจจะต้องกำหนดแนวปฏิบัติการสร้างสไลด์รูปแบบใหม่ เนื่องจากต้องการความกระชับ ขนาดตัวอักษร ขนาดสี การใช้เทคนิคการนำเสนอ ที่แตกต่างไปจากการออกแบบการสร้างในสภาวะปกติ
- ปิดระบบเตือนของ Apps ต่างๆ เช่่น Line, Facebook, Messenger ระหว่างประชุม โดยเฉพาะระบบคอมพิวเตอร์ของผู้ดำเนินการนำเสนอข้อมูล รวมทั้งการปรับเปลี่ยน Desktop ของ MS Windows ให้เหมาะสมกับองค์ประชุม